วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กิจกรรมที่ 3


ให้นักศึกษาศึกษาเนื้อหาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

1.   ท่านคิดอย่างไร ถ้ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่บท และพระราชบัญญัติน่าจะเป็นอะไร จงอธิบายให้เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลย
ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท  พระราชบัญญัติ คือ กฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูกบท หมายถึง การที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้บุคคลอื่นทำการออกกฎข้อบังคับที่เป็นอำนาจของตนแทนตน และกฎข้อบังคับนั้นมีผลบังคับเสมือนหนึ่งว่าได้ออกโดยผู้มอบอำนาจ กฎข้อบังคับที่ผู้รับมอบอำนาจตราขึ้นนี้ ในทางวิชาการมีคำที่ใช้เรียกอยู่หลายชื่อ เช่น “delegated legislation” เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจที่ได้รับมอบมาเพื่อให้ไปออกกฎหมายต่อไป หรือ “subsidiary legislation” เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีลำดับอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติซึ่งออกโดยรัฐสภา  หรือ “subordinate legislation” เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ทำขึ้นโดยองค์กรที่มีอำนาจอยู่ภายใต้รัฐสภาหรือในบางครั้งเรียกว่า “Legislative without Legislatures” คือกฎหมายที่ไม่ได้จัดทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

 2. ความมุ่งหมายในการจัดการศึกษากำหนดไว้อย่างไรบ้าง จงอธิบาย

  การจัดการศึกษาตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
                พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาไว้หลายประการ และได้เสนอประเด็นที่เน้นการเปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดการศึกษาแนวใหม่ ที่มีลักษณะเป็นการปฏิรูปการศึกษา โดยกล่าวถึงความมุ่งหมายและหลักการ สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา ระบบการศึกษา แนวการจัดการศึกษา การบริหารและการจัดการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา รวมทั้งเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
                ประเด็นที่กฎหมายระบุนี้ถือได้ว่าครอบคลุมสาระเนื้อหาที่จำเป็นในการจัดการศึกษามากอยู่แล้ว และผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษามีภาระในการขยายความ หรือลงรายละเอียดภาคปฏิบัติเพื่อนำไปดำเนินการให้เกิดผล

ความมุ่งหมายของการจัดการศึกษา
มาตรา 6 ของกฎหมายระบุว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ตามความข้างต้น เป้าหมายของการจัดการศึกษาจึงอยู่ที่คนไทยโดยทั่วไป ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นคนดี มีประโยชน์ มีความครบถ้วนทุกด้าน คือ
1.  ทางกาย  คือมีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง หมายความว่าการจัดการศึกษาต้องครอบคลุมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพอนามัย เช่น ส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมกีฬา ส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการ รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่เอื้อต่อสุขลักษณะ ปลอดจากภาวะมลพิษ ปลอดจากยาเสพย์ติด และปลอดจากภัยทั้งหลายที่อาจกระทบกระเทือนต่อสุขภาพอนามัยของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นภัยจากมนุษย์ (อุบัติเหตุ การประทุษร้าย) หรือธรรมชาติ (น้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ โรคภัยไข้เจ็บ) นอกเหนือจากหน้าที่ในการส่งเสริมสุขอนามัยแล้ว ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาต้องคาดการณ์และเตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อผ่อนคลายหรือแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์
2.  ทางจิตใจ คือมีจิตใจที่อดทนเข้มแข็ง สามารถเผชิญกับปัญหาหลากหลายที่เกิดได้อย่างมีสติ มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยในตัวเอง สามารถอดทนอดกลั้นต่อแรงกดดันต่างๆ
3.  ทางสติปัญญา คือการใช้ความคิดและเหตุผล
4.  ความรู้  คือการมุ่งให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพความต้องการของสังคมปัจจุบัน ได้แก่ความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ความรู้และทักษะด้านภาษา คณิตศาสตร์ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย การประยุกต์ภูมิปัญญาไทย ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
5.  คุณธรรมและจริยธรรม  แสดงออกในรูปของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความละอายต่อการประพฤติตนในทางเสื่อมเสียหรือก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผู้อื่นและสังคม
6.  มีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต รักวัฒนธรรมไทย มีเอกลักษณ์ไทย มีมรรยาทและการวางตนในสังคม รู้จักประมาณตนเอง
7.  อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  ผู้ได้รับการศึกษาจะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ประนีประนอม มีความเมตตากรุณา มีสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น และดำเนินบทบาทของตนเองได้อย่างเหมาะสมคุณลักษณะที่กล่าวข้างต้น อันเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษานี้ เริ่มต้นที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาซึ่งจะเป็นผู้ปลูกฝังถ่ายทอดอบรม หมายความว่าครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาต้องเป็นตัวอย่างที่ดี คือรักษาหรือพัฒนาคุณลักษณะที่ดีไว้เป็นแบบอย่าง
คุณลักษณะที่ดีอันเป็นที่พึงประสงค์นี้ถือเป็นมาตรหรือดัชนีชี้วัดครู ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา โดยผู้นำชุมชน และประชาชนต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุน ยกย่องและตั้งความคาดหวังให้แม่แบบสำหรับลูกหลานตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณลักษณะดังกล่าว เพราะหากแม่แบบไม่ดี เยาวชนก็จะยึดถือเป็นแบบอย่างการประพฤติปฏิบัติของพวกเขาตามไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น